การตรวจสอบระบบไฟฟ้าเป็นประจำทุกวัน ก่อนเริ่มงานเพื่อความปลอดภัย
ในการตรวจสอบระบบไฟฟ้า ประจำวันก่อนเริ่มทำงานทุกคนสามารถทำได้ไม่จำเป็นต้องเป็นช่างไฟฟ้าเท่านั้นเพราะการตรวจสอบประจำวันเป็นการตรวจดูสภาพอุปกรณ์ว่าพร้อมใช้งานหรือไม่ เช่น
- ตรวจสอบด้วยสายตาทั่วไป สภาพภายนอกปกติหรือไม่ ชำรุด เสียหาย หรือเปล่า
- ตรวจสอบสวิตช์เปิด – ปิด / เต้ารับ – เต้าเสียบ
- ตรวจสอบการตัดการทำงานของระบบไฟฟ้า
- ตรวจสอบสภาพพื้นที่โดยรอบว่ามีน้ำ หรือสิ่งที่อาจทำให้เกิดอันตรายได้หรือไม่
ซึ่งการตรวจสอบระบบไฟฟ้าก่อนการทำงานประจำวัน เพื่อเป็นการเช็คเบื้องต้นว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านั้น อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานหรือไม่ หากพบเห็นจุดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจะได้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบและแก้ไขก่อนมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น โดยหน้าที่ของผู้ใช้งานต้องตรวจสอบเท่าที่ทำได้เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่แก้ไขระบบไฟฟ้า เพราะผู้ที่จะทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าต้องเป็นช่างไฟฟ้าเท่านั้น
การดูแลระบบไฟฟ้าทั่วไป
การบำรุงรักษา PM ระบบไฟฟ้า สามารถทำได้โดยวิศวกรที่มีความรู้ หากเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไปไม่ซับซ้อนสามารถตรวจสอบโดยช่างได้ การตรวจสอบความพร้อมระบบไฟฟ้าก่อนการใช้งานโดยหัวข้อในการตรวจสอบ เช่น
-
การตรวจสอบสภาพสายไฟ
สายไฟ เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้า ในการเลือกใช้สายไฟมีผลต่อการใช้งานเป็น อย่างมาก ต้องเลือกให้เหมาะกับขนาดของไฟฟ้า และสายไฟต้องได้มาตรฐานตามกฎหมายกำหนด โดยหัวข้อในการตรวจสอบสภาพสายไฟก่อนการใช้งาน ได้แก่ สายไฟร้อนหรือไม่ ถูกกดทับด้วยวัสดุอื่นหรือไม่ เพื่อเป็นการตรวจเช็คเบื้องต้น ดูสภาพฉนวนหุ้มสายไฟว่ามีรอยขาดหรือไม่ หากพบความผิดปกติต้องรีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ามาดำเนินการแก้ไขก่อนการใช้งาน
-
การตรวจสอบเบรกเกอร์
ตรวจสอบสภาพของเบรกเกอร์ โดยดันเบรกเกอร์ขึ้นในตำแหน่ง on หากเบรคเกอร์หล่นลงมาจาก ตำแหน่ง on แสดงว่าเบรกเกอร์ชำรุด
-
การตรวจสอบสวิตช์ไฟฟ้า
การตรวจสอบสวิตช์สำหรับแสงสว่าง สามารถตรวจสอบด้วยตนเอง เช่น
- ตรวจสอบการเปิดและปิด สวิตช์ หากหน้าสัมผัสไม่สนิทหรือค้างให้เปลี่ยนใหม่ทันที
- เมื่อเปิดแล้วสวิตช์ร้อน อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ ให้เปลี่ยนใหม่ทันที
- ตรวจสอบฝาครอบสวิตช์ต้องปิดสนิทไม่แตกร้าว เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สัมผัส
-
การตรวจสอบเต้ารับและเต้าเสียบ
นอกจากอุปกรณ์และขั้วต่อไฟฟ้า เต้ารับและเต้าเสียบต้องได้รับมาตรฐาน ตามที่กฎหมายกำหนด โดย ผู้ใช้งานสามารถตรวตสอบสภาพก่อนการใช้งานได้ เช่น
- เต้ารับและเต้าเสียบ อยู่ในสภาพดีไม่แตกร้าว
- เต้ารับและเต้าเสียบไม่มีรอยไหม้
- เต้าเสียบแบบมีสายดิน ห้ามหักขาสายดินออก
- เมื่อเสียบแล้วต้องแน่น ไม่หลวม
- เต้ารับต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นภายในรูเสียบ และควรเลือกเต้ารับที่มีลิ้นกันฝุ่นละออง
-
การตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าในสำนักงาน
ก่อนเริ่มทำงานทุกวัน พนักงานที่ทำงานในส่วนของสำนักงาน สามารถตรวจสอบอุปกรณ์สำนักงานก่อนเริ่มงานได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โดยในการตรวจสอบคอมพิวเตอร์ก่อนเริ่มงาน ให้ตรวจสอบดังนี้
- ตรวจสอบส่วนที่เป็นโลหะให้มีการต่อลงดิน
- ตรวจสอบโครงโลหะและขั้วต่อ
- ตรวจสอบสายไฟและอุปกรณ์ต่อพ่วง สายสัญญาณเสียบแน่น
- หากพบความผิดปกติของคอมพิวเตอร์ ห้ามเปิดฝาเครื่องซ่อมด้วยตนเอง ให้แจ้งผู้มีหน้าที่โดยตรงทำการแก้ไข
ประโยชน์ของการตรวจระบบไฟฟ้าก่อนเริ่มงานประจำวัน
การตรวจสอบระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าประจำวัน สำหรับผู้ใช้งาน สามารถช่วยให้เกิดความปลอดภัย และเห็นถึงสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อดีของการตรวจระบบไฟฟ้าก่อนเริ่มใช้งานประจำวัน เช่น
- มั่นใจว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
- ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
- ลดค่าไฟฟ้าเนื่องจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมสภาพ
- รู้ถึงความผิดปกติและสามารถแก้ไขได้ ก่อนเกิดความเสียหาย
สรุป
ไฟฟ้ามีประโยชน์อย่างมาก แต่ก็มีโทษเช่นกัน หากผู้ใช้งานไม่ทำการตรวจสอบระบบไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าก่อนเริ่มต้นใช้งานในทุกวัน เพราะหากเราไม่ตรวจสอบ ก็จะไม่เห็นถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เราใช้งาน เมื่อใช้งานไปนานๆ อาจก่อให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และยังทำให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งานอีกด้วย